“เหล็กนอก” ยึดตลาดไทย 60% บริโภคหด-ราคาลด ควบรวมกิจการหนึ่งทางรอด

07 ธันวาคม 2566
“เหล็กนอก” ยึดตลาดไทย 60% บริโภคหด-ราคาลด ควบรวมกิจการหนึ่งทางรอด

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็ก ในส่วนของผู้ผลิตเหล็กในประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก จากมีเหล็กนำเข้ามาขายในราคาตํ่า กระทบผู้ประกอบการในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ล่าสุดบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ต้องประกาศเลิกจ้างพนักงาน หลังขาดทุนสะสมต่อเนื่อง

ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ณ เวลานี้ เป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เพื่อฉายภาพให้เห็นกันชัด ๆ อีกครั้ง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การบริโภคเหล็กของไทยในปี 2565 และ 2566 ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในและการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยลดลงทุกผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 32% เมื่อเทียบกับ 36% ในปี 2565 เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ โรงงานเดินเครื่องผลิตเฉลี่ยเพียงวันละกะเดียวคือ 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดตํ่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดโควิด ที่โรงงานเหล็กไทยยังใช้อัตราการผลิตเฉลี่ยอยู่ถึง 42% แต่ปัจจุบันหลือเพียง 32% โดยเฉลี่ย แต่สำหรับเหล็กบางประเภทลดตํ่าลงกว่าค่าเฉลี่ย อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อนลดลงจาก 30% เหลือเพียง 21% และโรงงานเหล็กลวดลดลงจาก 44% เหลือ 28%

“อัตราการใช้กำลังผลิตที่ลดลงเป็นผลจาก 2-3 ปัจจัย ได้แก่ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ บวกกับในปีนี้ประเทศจีนมีปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การบริโภคเหล็กของจีนลดลง โรงงานจีนจึงส่งออกมากขึ้นมายังกลุ่มอาเซียน สำหรับประเทศไทยใน 9 เดือนของปีนี้ การบริโภคเหล็กของไทยลดลง 1% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.7% ทำให้เราผลิตลดลง 8.2%”

บริโภคเหล็กในประเทศหด-ราคาลด

สำหรับมูลค่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของไทยเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ไทยบริโภคเหล็กคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 500,000 ล้านบาท แต่ในช่วงหลังเกิดโควิดการบริโภคลดลง ซึ่งหากเปรียบเทียบช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566 ไทยบริโภคเหล็ก 12.55 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12.67 ล้านตัน ถือว่าลดลง 1% อย่างไรก็ดีระดับราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผู้ประกอบการไทยขายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 10-20% เช่น ราคาเศษเหล็กลดลง 19.6%, เหล็กเส้นกลมลดลง 12.8%, เหล็กเส้นข้ออ้อยลดลง 12.5%, เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง 18.3% และเหล็กแผ่นรีดเย็นราคาลดลง 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงในสัดส่วนเดียวกัน

เหล็กนอกยึดตลาด 60%

ขณะที่เหล็กนำเข้ามีส่วนแบ่งตลาดในประเทศอยู่ 60% และเหล็กผลิตในประเทศมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 40% เนื่องจากเหล็กนำเข้ามีราคาถูกกว่า โดยในระยะหลัง ๆ มานี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประสบปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการ โดยเหล็กนำเข้า (สะสม 9 เดือน) ปี 2566 อยู่ในกลุ่มของเหล็กแผ่นรีดร้อน 2.86 ล้านตัน รองลงมาเป็นกลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่าง ๆ 2.34 ล้านตัน กลุ่มเหล็กรีดเย็น 1.05 ล้านตัน และเหล็กลวดเกือบ 1 ล้านตัน

“เหล็กนำเข้า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ตลาดหลักที่นำเข้ามา ได้แก่ จีน ปริมาณเพิ่มขึ้น +22.6% ญี่ปุ่น ปริมาณลดลง -4.9% เกาหลีใต้ ปริมาณลดลง -8.1% ไต้หวัน ปริมาณลดลง -25.3% เวียดนามปริมาณเพิ่มขึ้น +3.5% และอินโดนีเซีย ปริมาณเพิ่มขึ้น +35.9% ตามลำดับ (ดูกราฟิกประกอบ)”

ควบรวมกิจการหนึ่งทางรอด

ต่อคำถามที่ว่า เหล็กนำเข้าต้องผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.ของไทยในทุกผลิตภัณฑ์หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ไทยมีมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน และเหล็กทรงยาวในเวลานี้ 21 รายการซึ่งการที่ไทยมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กที่มีคุณภาพตํ่ามาขายในราคาถูกซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เหล็กก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงอาจจะเกิดปัญหาอาคารถล่มหรือเหล็กเคลือบที่มีการลดต้นทุนเคลือบมาบางผิดปกติทำให้เกิดสนิมได้ง่าย

อย่างไรก็ดีผู้อำนวยการสถาบันเหล็กฯกล่าวช่วงท้ายว่า ปัจจุบันหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ปกป้องการจ้างงานภายในประเทศ มีมาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (เอดี) รวมถึงมีการสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และยังมีโอกาสในอนาคตที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น ส่งเสริมการใช้สินค้าไทยในโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง การใช้มาตรการการหลบเลี่ยงเอดี หรือที่เรียกว่า Anti Circumvention เป็นต้น

นอกจากนี้การบริหารกำลังการผลิตให้สมดุลก็มีความสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการควบรวมกิจการ และไม่สร้างโรงงานที่ซํ้าซ้อนกับสินค้าที่เกินความต้องการอยู่แล้ว เป็นต้น


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.